นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมอบรางวัล TTF Award (Toyota Thailand Foundation Award ) เพื่อประกาศเกียรติคุณและสนับสนุนผลงานของนักวิชาการไทย วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น ๑ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร
การประกาศเกียรติคุณผลงานวิชาการดีเด่น รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย (TTF Award) เริ่มดำเนินการครั้งแรกปี พ.ศ.2538 ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนให้นักวิชาการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานงานวิชาการของไทย มุ่งหวังที่จะส่งเสริมสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” ด้วยการประกาศเกียรติคุณยกย่องผลงานวิชาการในสาขาต่างๆ โดยมีผลงานวิชาการอันทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น 50 เล่ม
การพิจารณารางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย (TTF Award) ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 โดยคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้ารับการพิจารณา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้
1. รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ประเภท รางวัลเกียรติยศ (Honorary Award)
เงินรางวัล 300,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ (โดยในปีนี้ไม่มีผลงานผ่านเกณฑ์การพิจารณา)
2. รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ประเภท รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น
เงินรางวัลละ 200,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- รางวัลด้านสังคมศาสตร์ (Social Science Award)
ผลงานเรื่อง “ยล เยี่ยม เยือน เหย้า แนวคิดและทฤษฎีว่าด้วยการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม”
ผู้เขียน: ผศ.ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- รางวัลด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities Award)
ผลงานเรื่อง “จิตกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม”
ผู้เขียน: ศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ
คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์
- รางวัลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Award)
ผลงานเรื่อง “CLINICAL LIPIDOLOGY”
ผู้เขียน: ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (Environment & Technological Science Award)
ผลงานเรื่อง “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1 (พรรณไม้วงศ์ Acanthaceae ถึงวงศ์Escalloniaceae)”
ผู้เขียน: นายไซมอน การ์ดเนอร์ และคณะ
มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มุ่งส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการศึกษาในทุกระดับ อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรสาธารณกุศลทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่จะขับเคลื่อนความสุขและสร้างรอยยิ้มสู่สังคมไทยภายใต้สโลแกน
“โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข”
รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย (Toyota Thailand Foundation Award: TTF Award )
ความเป็นมา
- รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ.2538 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมุ่งหวังที่จะส่งเสริมสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” ด้วยการประกาศเกียรติคุณยกย่องผลงานวิชาการในสาขาต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดพิมพ์ผลงาน เพื่อเผยแพร่งานเขียนออกสู่สาธารณชน อันจะเป็นประโยชน์แก่ นิสิต นักศึกษา อาจารย์นักวิชาการ ตลอดจนสาธารณชน เพื่อที่จะสามารถศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ ในวิทยาการใหม่อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับสูง สนับสนุนนักวิชาการ สร้างสรรค์ผลงานวิชาการใหม่ ๆ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานงานวิชาการไทย
เกณท์ในการคัดเลือกผลงาน
- เป็นผลงานที่เขียนโดยนักวิชาการไทย จัดพิมพ์ในรูปของหนังสือ หรือต้นฉบับที่พร้อมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
- เป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ หรือเคยตีพิมพ์แล้วไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่พิมพ์ครั้งแรกจนถึงวันที่เปิดรับผลงาน
- มีเนื้อหาวิชาการที่เป็นการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ หรือแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลของผู้แต่งอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ
- เป็นผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักพิมพ์ทางวิชาการ สถาบันทางวิชาการ สถาบันทางการศึกษา สมาคมวิชาชีพ ว่าเป็นหนังสือที่มีคุณภาพในการเสนอเข้ารับการพิจารณาให้รับรางวัล
- ไม่เป็นผลงานในรูปแบบบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ไม่ใช่งานแปล หรืองานรวบรวมข้อมูล
ประเภทรางวัล
- รางวัลเกียรติยศ : – สนับสนุนเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมโล่ห์เกียรติยศ
- รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น : – สนับสนุนเงินรางวัลๆละ 200,000 บาท พร้อมโล่ห์เกียรติยศ
โดยแบ่งรางวัลเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- ด้านสังคมศาสตร์
- ด้านมนุษยศาสตร์
- ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- ด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้ารับพิจารณาทั้งสิ้น 54 ผลงาน และได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นทั้ง 4 ด้าน โดยมีคำประกาศเกียรติคุณดังต่อไปนี้
คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านสังคมศาสตร์ (Social Science Award)
ผลงานเรื่อง ยล เยี่ยม เยือน เหย้า : แนวคิดและทฤษฎีว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ผู้เขียน ผศ.ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
แนะนำโดย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต
หนังสือเรื่องนี้กระตุ้นความสนใจของผู้พบเห็นตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งมีการใช้คำ ภาษา และความหมายที่สอดคล้องกับเรื่องที่นำเสนอ กับทั้งยังสามารถตอบโจทย์และวัตถุประสงค์ของผู้เขียน(ผศ.ดร.บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข)ได้อย่างกระชับ และชัดเจน มีลีลาน่าติดตาม
เนื้อหาสาระของหนังสือเป็นการรวบรวมแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเป็นวิชาการ มีความชัดเจนทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ภาษาที่สละสลวย อ่านเข้าใจง่าย การลำดับเรื่องราวเป็นระบบ มีตัวอย่างประกอบที่เข้ากับกาลสมัย พร้อมมีตารางและแผนภูมิทั้งเชิงเปรียบเทียบและแสดงที่มาที่ไปอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แสดงให้เห็นผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาคต่อสังคมไทย พร้อมๆกับการนำเสนอแนวทางการป้องกันและการแก้ไขผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น กับทั้งยังได้อภิปรายเกี่ยวกับทิศทางของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทยในอนาคตด้วย ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนได้สรุปในตอนท้ายบทของแต่ละบทพร้อมกับส่งเรื่องต่อยังบทถัดไปตามลำดับได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้อย่างเป็นระบบตามลำดับขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องกัน นอกจากนี้การนำเสนอแหล่งอ้างอิงทั้งในรูปเชิงอรรถและบรรณานุกรมที่กว้างขวาง รอบด้านและเป็นระบบถูกต้อง ก็ทำให้หนังสือนี้เป็นที่เชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้ในทางวิชาการ
คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities Award)
ผลงานเรื่อง “จิตกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม”
ผู้เขียน ศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ
คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์
แนะนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ผลงานค้นคว้าจิตรกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกามถือเป็นการเปิดศักราชงานวิจัยทางวิชาการของศิลปกรรมในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม พุทธศาสนาและศิลปะกับไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุที่ก่อนหน้าข้อมูลด้านวิชาการของพม่ายังเข้าถึงได้ค่อนข้างจำกัด แต่เป็นแหล่งงานศิลปกรรมที่เหลือหลักฐานอยู่อย่างมากโดยเฉพาะหลักฐานของงานจิตรกรรมเนื่องในพุทธศาสนา
งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในแหล่งศิลปกรรมที่มีการตรวจสอบกับหลักฐานทางเอกสาร วิเคราะห์และการลงความเห็นอย่างเป็นระบบอันนำมาซึ่งข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือ
ข้อสันนิษฐานสำคัญของการค้นพบในครั้งนี้ประกอบด้วย แบบแผนของงานจิตรกรรมสมัยพุกาม การแปลความสัญลักษณ์อันนำมาซึ่งข้อสันนิษฐานถึงแนวคิดและคติการสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างงานจิตรกรรมกับคัมภีร์ทางศาสนา ข้อสันนิษฐานใหม่เรื่องนิกายสงฆ์ “อรัญ” หรือ “อรี” รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรรมพุกามกับจิตรกรรมไทย
ผลที่ได้จากการค้นคว้าในครั้งนี้จึงยังประโยชน์ต่อวงวิชาการเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่การรับรู้ข้อมูลทางวิชาการของประเทศเพื่อนบ้าน ในฐานะที่เป็นคลังข้อมูลของงานศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนา ในความเป็นประชาคมอาเซียนที่ถือว่ามีความสัมพันธ์กับไทยมากที่สุดโดยเฉพาะด้านความศรัทธาในพุทธศาสนา ความเป็นแหล่งบันดาลใจในการสร้างงานศิลปกรรมในประเทศไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีอันดีต่อกัน และจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ต่อไป ที่ไม่ใช่เพียงภาพประวัติศาสตร์แห่งการสงครามที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยวเวลาหนึ่งเท่านั้น
คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Award)
ผลงานเรื่อง “CLINICAL LIPIDOLOGY”
ผู้เขียน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แนะนำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ
หนังสือ “CLINICAL LIPIDOLOGY” เล่มนี้เป็นหนังสือต้นแบบที่ให้ความรู้หลายๆ ด้าน แก่ผู้อ่านหรือผู้ที่จะนำมาศึกษาความรู้ทางด้านไขมันในร่างกายมนุษย์ที่จะแสดงอาการออกมาทางคลินิก
เริ่มจากผู้ประพันธ์ นอกจากจะมีความรู้ทางด้านนี้ดี เนื่องจากมีการศึกษาและวิจัยทางด้านนี้มายาวนานแล้ว ผู้ประพันธ์ได้ให้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางด้านชีวเคมีของไขมันในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านการสร้าง การสะสมในร่างกาย และการทำลายไขมันในภาวะที่ร่างกายมีภาวะเมตะบอลิซึมที่ปกติ และเมื่อร่างกายมีภาวะเมตะบอลิซึมที่ผิดปกติ ไขมันเหล่านี้จะก่อให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย ในขณะเดียวกันเมื่อแพทย์เข้าใจการเกิดความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไขมันของผู้ป่วย ก็จะเข้าใจอาการและอาการแสดงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แพทย์ผู้รักษาจะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของไขมันในร่างกายได้ง่ายนั้น และสุดท้ายแพทย์ผู้นั้นจะสามารถให้การรักษาที่ถูกต้องได้
จากการที่ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ได้ทำวิจัยทางด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเข้าใจทางด้านไขมันและเกิดอาการทางคลินิกเมื่อเกิดความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไขมัน ผู้อ่านจึงได้ประโยชน์อย่างมากจากงานวิจัย และประสบการณ์ของผู้ประพันธ์ทางด้านนี้ ซึ่งจะหาอ่านจากตำราต่างประเทศได้ยาก ตำราเล่มนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยอย่างมาก
หนังสือเล่มนี้จึงสมควรได้รับรางวัลครั้งนี้ เพราะได้ก่อเกิดประโยชน์แก่วงการแพทย์ไทย และผลประโยชน์จากความรู้ในหนังสือเล่มนี้จะตกแก่ประชาชนไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับการรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากความผิดปกติของ เมตะบอลิซึมของไขมันในร่างกาย
คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
(Environment & Technological Science Award)
ผลงานเรื่อง “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1 (พรรณไม้วงศ์ Acanthaceae ถึงวงศ์Escalloniaceae)”
ผู้เขียน: นายไซมอน การ์ดเนอร์ และคณะ
แนะนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดอกรัก มารอด
หนังสือ “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1 (พรรณไม้วงศ์ Acanthaceae ถึงวงศ์ Escalloniaceae)” ของไซมอน การ์ดเนอร์ และคณะ ซึ่งท่านถืออยู่ในมือนี้ นับเป็นหนังสือในระดับตำราทางพฤกษศาสตร์ที่เป็นภาษาไทยชั้นเยี่ยมอีกเล่มหนึ่ง โดยเป็นการนำเสนอรายละเอียดของพรรณไม้ในเขตภาคใต้ของไทยซึ่งเป็นป่าดิบชื้นที่สำคัญแหล่งใหญ่ของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบความหลากชนิดของพรรณพืชกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วป่าดิบชื้นในภาคใต้ของไทยนับว่ามีความหลากหลายสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีรายงานความหลากชนิดของพรรณไม้ภาคใต้ไม่มากนัก การมีคู่มือไม้ป่าภาคใต้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ถึงพรรณไม้ป่าเพิ่มมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมตั้งแต่การทำความรู้จักพรรณไม้จากส่วนประกอบที่สำคัญของพืช การติดดอกออกผล ไปจนถึงการกระจายและลักษณะสภาพทางนิเวศวิทยาที่สำคัญของพืช ตลอดจนการระบุชนิดพันธุ์ไม้ได้อย่างมีเนื้อหาสาระและสามารถเข้าใจง่าย ยังประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพฤกษศาสตร์ หน่วยงานหรือองค์กรทางด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจงานด้านอนุกรมวิธานพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีและถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญต่อการทำความเข้าใจ รู้จัก และอนุรักษ์ป่าไม้ในภาคใต้ของไทย อาทิ การประยุกต์ใช้ในการจัดการเมล็ดพืช ส่งเสริมการสืบต่อพันธุ์หรือช่วยในการคัดเลือกชนิดพืชเพื่อการฟื้นฟูป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพืชแต่ละชนิดในเชิงพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน
ดังนั้น การมีคู่มือไม้ป่าภาคใต้ดังเช่นหนังสือ “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1” นี้ จึงนับได้ว่าช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ไม้ป่าภาคใต้ของไทย อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง อีกทั้งยังให้ประโยชน์ต่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้รู้จักพันธุ์ไม้ภาคใต้ของไทยมากขึ้น และจะก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ไม้ป่าภาคใต้ในเชิงลึกต่อไป