เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า? เหตุใดผู้บริหาร “มิตซูบิชิ” จึงลุกขึ้นมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ยอมรับผิดว่ามีพนักงานกลุ่มหนึ่งโกงตัวเลขอัตราการบริโภคเชื้อเพลิง หรือตัวเลขความประหยัด ในรถยนต์มิตซูบิชิและรถนิสสัน ที่จ้างโรงงานมิตซูบิชิประกอบให้
บ้างก็ชื่นชมในสปิริต บ้างก็ตราหน้าว่าขี้โกง ลูกค้ามิตซูบิชิก็เย้ากันเองเป็นเรื่องสนุกว่า รถที่ตนเองซื้อมานั้นจะโดนด้วยหรือไม่? หรืออาจจะทำแต่ยังไม่มีหลักฐานเลยไม่ยอมรับ ว่ากันไปต่างๆ นาๆ
จะถามถึงหลักฐานก็ไม่ชัด ไม่ได้มีใครหรือหน่วยงานใดออกมาจับโกง แบบคราวที่ “โฟล์คสวาเก้น” โดนในการโกงค่าไอเสียด้วยซอฟต์แวร์ในสหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นหน่วยงานรัฐบาลจับได้ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมันอย่างมาก แต่ในโลกออนไลน์ ส่วนของนักทฤษฎีด้านมืด ต่างเชื่อกันว่าเป็นเกมการเมือง เช่นเดียวกับกรณีธนาคารบีเอ็นพี ของฝรั่งเศสโดนเรื่องปล่อยกู้รัสเซียละเมิดกฎคว่ำบาตร แต่เมื่อผิดจริงก็ต้องก้มหน้า ไม่มีเคลียร์ ต้องเสียค่าปรับ
กลับมาที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นทางผู้บริหารมิตซูบิชิเอง อยู่ดีๆ ก็ออกมาบอกว่าตนเองโกง พวกเราสงสัยกันหรือไม่? เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีใครรู้ ลูกค้ามิตซูบิชิและนิสสันเองก็ไม่ต้องนอยด์ว่าโดนหักหลังจากค่ายรถที่เค้าไว้ใจทุ่มเงินแสนซื้อรถมาใช้งาน
แต่เมื่อให้หลังได้ 3 สัปดาห์ ข่าวการเข้าซื้อหุ้น 34% ของนิสสัน มอเตอร์ ถูกจุดพลุ พร้อมทั้งรวบหุ้นจบได้ในวันนั้น ช่างง่ายดาย
จากหุ้นจำนวนมหาศาลของบริษัททั้งหมด 983,661,919 หุ้น คิดเป็นมูลค่าตลาด 555,768,984,235 เยน หรือกว่า 5.55 แสนล้านเยน นี่ผู้ถือหุ้นใหม่กวาดไปถึง 34% เชื่อว่าผู้ที่พอจะมีความรู้เรื่องตลาดทุนคงพอจะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ในทันที หุ้นจำนวนขนาดนี้ไม่ได้ซื้อกันง่ายๆ แล้วก็คงไม่มีใครมาตั้งขายหุ้นบนกระดานมากมายขนาดนี้เว้นแต่จะเลิกกิจการ
ข้อครหาเรื่อง “มิตซูบิชิ” ทุบหุ้นตัวเอง เพื่อให้ “นิสสัน” เข้ามาซื้อในราคาที่เจรจากันไว้นอกกระดานคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะจริงเท็จอย่างไร ผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่านั้นต้องเดินหน้าฟ้องร้องให้มีการตรวจสอบ
ถามว่า 34% มีความหมายอย่างไร? มีความหมายมากครับ เพราะว่ากฎระเบียบตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือ Japan Exchange Group ระบุไว้ว่า หากนักลงทุนรายใหม่ เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกินกว่า 1 ใน 3 ของหุ้นที่มีอยู่ จะต้องทำการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นคืน หรือ Tender Offer จากผู้ถือหุ้นอื่นแบบสมัครใจ ภายใน 60 วัน
เชื่อว่าหลายคนเก็ตแล้วใช่ไม๊ครับ “นิสสัน” เองรู้ว่า ความลับไม่มีในโลก เพราะดีลยักษ์ขนาดนี้ แค่นัดหมายเจรจาหรือให้ที่ปรึกษาทางการเงินตรวจสถานะมิตซูบิชิ ยังไม่ทันตัดสินใจใดๆ มีคนมาเกี่ยวข้องมากมาย ข่าวก็ต้องรั่ว หุ้นมิตซูบิชิที่หมายตาไว้ต้องโดนปั่นแน่นอนจากคนวงในนั้นเอง
อีกทั้ง กฎหมายญี่ปุ่นไม่ให้เจรจาต่อรองกันนอกกระดาน จะซื้อราคาในกระดาน ก็ต้องเตรียมงานกันหน่อย ทั้งยังจะต้อง ต้องโดนบังคับให้ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นอื่น ที่แม้นิสสันจะประกาศราคารับซื้ออีกที แต่ไม่ใช่ว่าจะตั้งราคากดเท่าไหร่ก็ได้ หน่วยงานกลางจะตรวจสอบด้วย ซึ่งที่ผ่านมาดีลยักษ์ก็มักจะแพงเกินปัจจัยพื้นฐานที่ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ได้คำนวณไว้ และผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิมก็มักขาย เพื่อถือเงินสด และรอให้นโยบายบริษัทนิ่งเสียก่อน ค่อยกลับมาลงทุนยังไม่สาย
ด้วยความเก๋าและความเขี้ยวของใครก็ไม่ทราบได้ จึงเกิดกรณีที่คล้ายกับทุบหุ้นตัวเอง ขังผู้ถือหุ้นเดิม เพราะราคาดิ่งอย่างรวดเร็วลงไปกว่า 30% จากข่าวลบที่บั่นทอนความเชื่อมั่นนี้ ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานธุรกิจมิตซูบิชินั้นยังคงดูดี ไม่ได้แย่ มีโรงงานที่ศักยภาพสูงมากมายในหลายประเทศ เครือข่ายการจำหน่ายรถยนต์ในตลาดโลกนับเป็นผู้นำแถวหน้าของวงการ มิตซูบิชิ ในเมื่อมูลค่าธุรกิจที่แท้จริงยังดีอยู่ ใครจะยอมขายหุ้นคืนให้ผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง “นิสสัน” แบบ VTO หรือ Volunteer Tender Offer แบบขาดทุนเละเทะ สู้ถือหุ้นไว้ แล้วเซฟรูปภาพ “คาลอส กอห์น” ไว้ที่หน้าจอมือถือเพื่อเป็นกำลังใจยังดูเข่าท่ากว่า (ฮา)
นิสสัน ก็ได้ประโยชน์ที่สุด เพราะโดนบังคับให้ทำ Tender Offer แต่ราคาหุ้นตลาดให้ส่วนลดบนกระดานแบบงานเทกระจาดแบบนี้ ใครมาขายคืนก็ยินดีรับหมดแน่นอน
บางคนอาจบอกว่า เมื่อข่าว “ดีลยักษ์” ออกมา หุ้นมิตซูบิชิก็ต้องเด้งอยู่ดี ใช่ครับ ก็เด้งมา แต่แบบว่ายังห่างไกลจากที่ดิ่งไปไกลนัก…แล้วคิดให้ดีว่า ตอนราคาดิ่งนรกใครเก็บ? หุ้นเนี่ย คุณตั้งราคาขาย ถ้าไม่มีคนรับซื้อ ก็ต้องตั้งให้ต่ำลงไปอีกเรื่อยๆ แต่ที่สุดก็มีคนรับหุ้นไปดูแล…คิดแบบง่ายๆ ก็ต้องมโนว่ามีแค่ “นิสสัน” กับ “ผู้บริหารมิตซูบิชิ” เท่านั้นแหละที่อยากได้ ถ้าหากรู้ว่า “ดีล” เขย่าวงการนี้จะเกิดขึ้น จริงหรือไม่ครับ?
หุ้น 34% ยังไม่ถึงกับครอบงำกิจการ หรือแต่งตั้งผู้บริหารและผู้สอบบัญชีในมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน แต่ “นิสสัน” มีสิทธิออกเสียง “วีโต้” คัดค้านการลงทุนและนโยบายต่างๆ ได้ทันที เจ๋งใช่ไม๊หล่ะครับ?
คราวนี้ “นิสสัน” นอกจากใหญ่ในตลาดญี่ปุ่นแล้ว อนาคตอาจจะเบียด “โตโยต้า” และ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” ในตลาดโลกได้เลยทีเดียว
ส่วนเรื่องรถโมเดลใหม่ๆ หลังจากดีลยักษ์นี้นั้น ด้าน “นิสสัน” ไม่ต้องห่วงเค้า เพราะดีอยู่แล้ว รถยนต์ดีไซน์สวย เทคโนโลยียานยนต์และการขับเคลื่อนตอบโจทย์ตลาด จากการรวบรวมสุดยอดเทคโนโลยียานยนต์ญี่ปุ่นและยุโรปคือฟาก “เรโนลด์” ไว้ด้วยกัน ภายใต้การนำของคาลอส กอห์น ซุปตาร์แห่วงวงการยานยนต์โลก
ทางด้าน “มิตซูบิชิ” จะดีวันดีคืน รถโมเดลใหม่ๆ น่าจะออกได้เร็วขึ้น จากเดิมที่มีแต่ข่าวการ “พับแผน” หรือหยุดสายการผลิตรถรุ่นดังๆ ที่สร้างชื่อให้กับมิตซูบิชิ จาก DNA มอเตอร์สปอร์ต เมื่อนิสสัน เข้ามามีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางและออกเสียงวีโต้ เชื่อว่า รถหลายๆ โมเดล จะต้องใช้พื้นฐานร่วมกัน โดยเฉพาะรถกระบะและ SUV รวมถึงรถเก๋งบางโมเดล
ท้ายนี้ ผมอาจจะเห็นต่างจากพวกเรานะครับ ที่โทนส่วนใหญ่มองว่าไม่เวิร์ค แต่ไม่ได้ว่าท่านผิด เพราะชุดความคิดเราแตกต่างกัน ผมมองว่าดีลนี้ “โหด” แต่ “เจ๋ง” ที่ว่าโหด ก็กับผู้ถือหุ้นมิตซูบิชิที่เป็นรายย่อยและกลุ่มที่ไม่อยากให้นิสสันเข้ามา ซึ่งเป็นปกติต้องมี เป็นธรรมดาของโลกทุนนิยม ในส่วนที่เจ๋ง คือเราจะได้เห็นรถยนต์ใหม่ๆ ที่ล้ำทั้งดีไซน์และเทคโนโลยี จากการจับมือกันของ “นิสสัน-เรโนลด์ กับ “มิตซูบิชิ” ที่มีของดีมากมาย ที่อยู่ในเทรนด์ทั้งหมด อาทิ รถไฟฟ้า รถไฮบริด รถSUV รถกระบะ และ Eco Car หรือ City Car
จะบอกว่า ผมชอบดีลประหลาดๆ แบบนี้นะครับ กลิ่นมันทะแม่งตั้งแต่วันมีข่าวลบของมิตซูบิชิออกมา ก็ลุ้นอยู่ว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรออกมา ผลสุดท้ายก็ฮือฮาจริงๆ ดีลแบบนี้มันมีอะไรให้คิด ศึกษาและติดตาม และในอนาคตท่านรอดูเถอะ จะมีดีลพิศดารมากกว่านี้เรื่อยๆ จากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เมื่อเห็นความเจ๋งของ “นิสสัน-เรโรลด์” ที่กำลังจะขึ้นไปยืนอยู่บนโพเดียมบิ๊กทรี
สรุป ผมยังมองว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน” ยังดูดี ส่วนวิกฤตนั้นคล้ายจงใจให้เกิด จากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีเป้าหมายหลายอย่างที่เค้าบอกเราไม่หมด เพราะบอกเราเท่ากับบอกคู่แข่ง แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือการผลักดันธุรกิจยานยนต์ของทั้ง “มิตซูบิชิ” และ “นิสสัน” ให้เติบโตขึ้นมาอีกขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
[ad name=”HTML-3″]