วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Special ReportTest Drive

สรุป “5 ข้อเด่น-ด้อย” All-new Honda Accord เจนเนอเรชั่นที่ 10

สรุป 5 ข้อเด่น-ข้อด้อย หลังจากทดลองขับ All-new Honda Accord เจนเนอเรชั่นที่ 10 (สเปกสหรัฐอเมริกา) โดยความเห็นส่วนตัวของ พี่มิน driveautoblog

ข้อเด่น
1. All-new Accord ได้เครื่องยนต์ใหม่ คือ เครื่องยนต์บล็อกใหม่ Di VTEC TURBO 1.5 ลิตร 195 แรงม้า และไฮบริด 2.0 ลิตร ระบบ Full Hybrid เจนเนอเรชั่นที่ 3 ย้ายโมดูลแบตเตอรี่ไฮบริด แบบลิเธียม-ไอออน มาไว้ใต้เบาะนั่งผู้โดยสารแถวสอง จำนวนเซลส์แบตเตอรี่มากขึ้น ขับ EV Mode ได้ไกล ระบายความร้อนดี อายุการใช้งานยาวนาน ห้องสัมภาระท้ายรุ่นไฮบริดกว้างเหมือนรุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายในและสามารถพับเบาะหลังได้แล้ว โดยทั้งสองเครื่องยนต์ทำงานคู่กับเกียร์ CVT ลูกใหญ่ คอนเฟิร์มว่า Accord ไม่ใช้เครื่องเบนซิน 2.0 และ 2.4 ลิตรแล้วในเมืองไทย
.
2. Accord เจนฯ 10 ใช้เทคโนโลยีการประกอบและการลดเสียงรบกวนล้ำหน้าคู่แข่งและเป็นโมเดลแรกของ Honda ที่ได้ใช้ ได้แก่ Lazer Blaze เป็นเทคนิคการประกอบตัวถัง ลดรอยต่อบริเวณหลังคากับตัวถัง ทำให้ดีไซน์รถได้สปอร์ต ตัวถังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รอยต่อหลังคาชิดกันมองเห็นเป็นเพียงร่องรีดน้ำ ไม่มีแผ่นยางสีดำมาแปะคาดทับ ซึ่งโดนแดดเผานานไปหรือน้ำยาล้างรถกัดกร่อนทำให้เสียหายแตกลายงา นานไปไม่สวย หาเปลี่ยนของแท้ยากด้วยยางชิ้นนี้ ในส่วนการเก็บเสียงในห้องโดยสารก็เงียบด้วยฉนวนซับเสียงรอบคัน และเป็นครั้งแรกใน Accord ที่ฉีดโฟมอะคูสติกในหลังคาและเสาประตูรวม 10 จุดเป็นครั้งแรก และใส่แผ่นลดเสียงสะท้อนในล้อแมกซ์ พร้อมด้วยระบบ Active Noise Control (ANC) ช่วยตัดเสียงรบกวนความถี่ต่ำในห้องโดยสารด้วยชุดโมดูลที่อยู่ในลำโพงเครื่องเสียง
.
3. Accord สเปกเมืองไทย ระบบ Honda Sensing อันเลื่องชื่อ มาครบและจัดเต็มเหมือนในสเปกสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก (Collision Mitigation Braking System: CMBS) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ (Adaptive Cruise Control with Low-Speed Follow: ACC with LSF) ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System: LKAS) ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (Road Departure Mitigation with Lane Departure Warning : RDM with LDW) ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Auto High-Beam: AHB)
.
และสำหรับเมืองไทย ยังได้ระบบ Advance Active Safety ที่หลายๆ ประเทศไม่มี และรถทดสอบรุ่นทัวริ่งสเปกสหรัฐฯ ก็ไม่มีอีกด้วย ได้แก่ ระบบกล้องส่องภาพรอบทิศทาง (Multi-view Camera System) ระบบเตือนเมื่อรถยนต์เคลื่อนผ่านขณะถอย (Cross Traffic Monitor) และ ระบบช่วยจอดอัจฉริยะพร้อมระบบช่วยเบรก (Honda Smart Parking Assist System) โดยรถจะหมุนพวงมาลัยควบคุมทิศทางรถเอง คนขับทำหน้าที่คุมคันเร่ง เบรกและเข้าเกียร์ โดยระบบ Active Safety ในรุ่นเดิมก็ยังคงอยู่ครบ
.
4. คุณภาพการขับขี่ดีมาก ฐานล้อกว้างขึ้น และจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ดีไซน์พวงมาลัยออกมาได้ถนัดมือ เบาะนั่งทุกตำแหน่งดีไซน์ออกมาดีมาก โดยเฉพาะเบาะคู่หน้า เข้ากับสรีระและยังดูสปอร์ต ส่วนเบาะหลังก็กว้างใหญ่และนั่งสบาย มองผ่านกระจกด้านข้างออกไปได้พอดี ความสูงของรถแม้จะเตี้ยลงกว่าตัวก่อน เพื่อสร้างสรรค์เส้นสายแบบรถสปอร์ต แต่ผู้โดยสารนั่งในรถไม่อึดอัด จากการขยายฐานล้อเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ทำให้วิศวกรมีอิสระมากในการจัดวางที่นั่งของผู้โดยสารในรถ ในส่วนระบบกันสะเทือนและช่วงล่างก็เซ็ตมาได้นุ่มและนิ่งในโค้ง แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อยในรถทั้งสองเครื่องยนต์ เพราะน้ำหนักไม่เท่ากัน
.
5. ฟังก์ชั่นและเทคโนโลยีดูดีมาก โดยเฉพาะตัวเบนซิน มาตรวัดสองวง วงขวาเป็นเข็มวัดความเร็วแบบคลาสสิค แต่วงซ้ายเป็นดิจิตอล ที่เลือกแสดงข้อมูลสำคัญได้หลากหลาย ชอบตรงวัดรอบเครื่องยนต์แบบดิจิตอล ที่มีเข็มวัดรอบเครื่องยนต์ ซ้อนด้วยแถบวัดบูสต์เทอร์โบ เมื่อกดคันเร่งลงไปแถบสีของเกจ์วัดบูสต์ก็พุ่งขึ้นลง เร้าใจมากๆ และเมื่อปรับสวิตช์ที่พวงมาลัยก็จะเลือกให้แสดงผลเรื่องอื่นได้ อาทิ ระบบแผนที่นำทาง หรือชื่อศิลปินเพลงที่ฟังอยู่ เป็นต้น ส่วนรุ่นไฮบริด มาตรวัดวงซ้ายก็จะแสดงทิศทางการไหลของพลังงานและระบบสร้างกระแสไฟฟ้าของระบบ Full Hybrid เจนฯ3 และอีกไฮไลต์คือ ระบบแสดงผลข้อมูลการขับขี่บนกระจกหน้า (Head Up Display : HUD) ที่ชัดมากๆ และจอกลางขนาด 8 นิ้วจอสัมผัสดีแตะติดนิ้วดี

รีวิว ทดลองขับ All-new Honda Accord G10

ข้อด้อย
1. ที่นั่งหลังของรุ่นไฮบริด มันแข็งไปหน่อย ในส่วนเบาะรองนั่งนะครับ ส่วนเบาะพิงนั้นนุ่มสบายดี รอคุยกับวิศวกรญี่ปุ่นที่ไทยอีกครั้งว่า การที่ย้ายโมดูลแบตเตอรี่ไฮบริดมาไว้ในห้องโดยสารมีผลจริงหรือไม่? คล้ายกับว่าความยืดหยุ่นของโครงสร้างเบาะมันหายไป เพราะใต้ที่นั่งมีชิ้นส่วนมากมายกว่าเดิม แต่กับตัว 1.5 เทอร์โบ นั่งสบายมาก แต่ขึ้นลงลูกระนาดเด้งกระเทือนมากกว่าตัวไฮบริดเพราะท้ายเบากว่า
.
2. สำหรับตัว 1.5 Turbo สเปกสหรัฐฯ ที่ผมลองทดสอบนั่งเบาะหลัง เมื่อคนขับกดผ่านแยก ดึงหน้างายตลอด ผมก็ขอให้แตะเบาๆ แล้วก็ยังพุ่งอยู่ดี ได้แรง คนขับสะใจ แต่ถ้าไม่ได้สมูธ มันก็จะไม่มีความสุขตอนนั่งโดยสาร รอดูอัตราทดเกียร์และเจาะลึกรอบการทำงานของเทอร์โบลูกนี้กับทางวิศวกรญี่ปุ่นอีกครั้ง ว่าจะมีการ Calibrated คันเร่งอย่างไรสำหรับเมืองไทย
.
3. ตำแหน่งเรดาห์ด้านหน้า อยู่หน้าสุด แบบไม่ปิดบังกันเลย แต่ยอมรับนะว่า ทำงานได้ดีมากแม้ตอนฝนตก เพราะตำแหน่งนี้แหละ ถ้างั้นคำถามแรกๆ เมื่อทุกอย่างพร้อม คงเป็นราคาอะไหล่แท้ชิ้นนี้ ว่าแพงไม๊และต้องเปลี่ยนอะไรบ้างถ้าเกิดอุบัติเหตุครับ
.
4. ดีไซน์ภายใน ยังไม่ถึงกับว้าวเหมือนภายนอก เพราะมุ่งจะทำรถให้กว้าง เรายังไม่พูดถึงฟีเจอร์ในสหรัฐ เพราะเชื่อว่าของไทยจัดเต็มแน่นอน แต่การหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ ยังจำเจ ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมากเลย จะมีตัวไฮบริดที่เป็นสวิตช์เปลี่ยนเกียร์ อันนี้ดูดี แต่ตัวเทอร์โบเป็นคันเกียร์ขึ้น-ลง หรือฮอนด้าตั้งใจให้ใช้ง่ายก็ไม่ทราบได้ สไตล์เรียบหรู แต่นี่มันรุ่นครบเจนเนอเรชั่นที่ 10 เลยนะ
.
5. ตรงนี้ส่วนตัวมองเป็นข้อด้อย แต่คนส่วนใหญ่คงมองเป็นข้อเด่น (ฮา) คือ รถพัฒนาในสหรัฐอเมริกาที่คนตัวใหญ่มาก และเป็น Global Model ขายทั้งโลก ความกว้างภายในห้องโดยสาร มันกว้างมากที่สุดใน D-Segment เอาหล่ะ ที่เราต่างถามหารถที่มีภายในกว้างขวางกันทุกยุค แต่นี่จะกว้างไปไหน นั่งเบาะหลังโน้มตัวมายื่นของให้คนข้างหน้าไม่ถึง จนมีคำถามว่า เราต้องการรถที่กว้างขนาดนี้กันเลยหรือ? เราอยากได้รถซีดาน แต่กลับได้ลีมูซีน นั่งเบาะหลังคนเดียวรู้สึกเหงาขึ้นมาเลยครับ!

.
รายละเอียดมากกว่านี้ รอดูสเปกและราคาเมืองไทยในเดือนมีนาคม ส่วนคลิปรีวิวรอชมนะครับ สุดยอดจริงๆ สุดแบบไหนรอติดตามนะครับ ไม่นานๆ

minnie driveautoblog
Editor at driveautoblog | Youtuber | Vlogger | Blogger

ใส่ความเห็น