วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Car GURUDriving Skill

เทคนิค 3 ข้อ เช็คระยะยางรถยนต์เสื่อมสภาพก่อนลุยฝน

เมื่อเข้าฤดูฝน ท้องถนนมีน้ำเจิ่งนอง และในบางจุดเมื่อฝนตกนานๆเข้าก็เกิดการท่วมขัง โดยเฉพาะสภาพจราจรในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่สภาพพื้นถนนไม่ได้ราบเรียบ ปรากฏหลุมบ่อ หรือเนื่องจากระบายน้ำไม่ทันก็ตาม ก็ยิ่งเพิ่มอุปสรรคในการขับขี่มากยิ่งขึ้น ผู้ขับขี่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ หากยานพาหนะไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีหรือมีความพร้อมอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ขับขี่หรือผู้ที่สัญจรบนท้องถนนได้

2015 ยาง ดีสโตน (2)

เมื่อกล่าวถึงสภาพรถยนต์ที่พร้อมใช้งาน ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะพุ่งความสนใจไปที่เครื่องยนต์ ซึ่งแน่นอนที่สุดนอกจากสภาพเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์พร้อมทำงานแล้ว ยังมีส่วนที่สำคัญ คือยางรถ ที่หากละเลยการดูแลรักษาก็อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน

เมื่อฝนตกขณะขับขี่ ยางรถต้องรับหน้าที่อันสำคัญในการยึดเกาะพื้นถนนอันแสนลื่น หากยางรถเสื่อมสภาพหรือเกินจากอายุการใช้งาน อาจเพิ่มภาระให้กับผู้ขับขี่ ในการที่จะบังคับรถให้ได้ตามต้องการ

ดังนั้นยางรถยนต์เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เรามีเทคนิคง่ายๆ 3 ระยะ มาให้ลองตรวจสอบกันดังนี้

ระยะที่ 1 ระยะยางที่อยู่ในสภาพที่ควรใช้งานนั้น ในเบื้องต้นควรเริ่มสังเกตสภาพยางจากระยะการใช้งานตั้งแต่ 50,000 กิโล หรือหลังจาก 2 ปีแรกไป หากใช้งานเกินไปกว่านั้นสภาพของยางจะเริ่มสึกหรอ ขาดความยืดหยุ่น ไม่ยึดเกาะ และแข็งกระด้าง จะส่งผลเสียในการขับขี่ตามมา

ระยะที่ 2 ร่องยาง ควรสังเกตความลึกของร่องยาง หรือดอกยาง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของการรีดน้ำของยาง ถ้าหากยางรถยนต์ได้รับการดูแลรักษาและใช้งานอย่างถูกต้อง เราสามารถใช้งานได้จนกระทั่งดอกยางสึกหรอเหลือ ต่ำ สุด 1.6 มิลลิเมตร หรือจะเห็นสันนูนที่ร่องยาง ซึ่งเรียกว่า สะพานยางและเมื่อไหร่ที่ดอกยางสึก ไปถึงสะพานยาง นั่นแสดงว่ายางหมดอายุการใช้งาน ก็ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ได้ทันที แต่ถึงแม้ยางไม่หมดอายุแต่เกิดการบวมล่อนขึ้น บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ที่หน้ายาง หรือ ไหล่ยาง ก็ควรเปลี่ยนใหม่ทันทีเช่นกัน เพราะหากยังใช้ต่อไป ยางอาจแตกระเบิดได้

ระยะที่ 3 รอยปริ รอยบวม การขับขี่รถอาจต้องพบเจอสภาพท้องถนนหรือสิ่งกีดขวางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ขับขี่อาจขับตกหลุม บ่อ หรือแม้แต่เบียดขอบถนนหรือฟุตบาท ทำให้ยางได้รับความเสียหายโดยไม่รู้ตัว และเมื่อใช้ความเร็วในการขับขี่อาจเกิดอันตรายถึงขั้นยางระเบิดก็เป็นได้ เมื่อพบว่ามีอาการยางบวม หรือปริ ควรหลีกเลี่ยงการใช้รถ และนำรถเข้าศูนย์ที่ได้มาตรฐานเพื่อเช็คสภาพ ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนยางต่อไป

เรื่องการเปลี่ยนยางในการขับขี่จริง ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับขี่ การบรรทุกน้ำหนัก สภาพผิวถนน ระบบช่วงล่าง การเติมลมยาง ที่เป็นตัวแปรในการใช้งานของรถแต่ละคันอีกด้วย สุดท้ายนี้ผู้ขับขี่ที่ดีนอกจากเคารพและทำตามกฎหมายจราจรแล้ว ควรร่วมกันสร้างวิสัยการขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัย ด้วยการเริ่มต้นจากการเช็คสภาพความพร้อมของรถและยางรถของตัวเองทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ด้วยการตรวจเช็คสภาพยางเบื้องต้นด้วยตนเอง หรือเข้ารับบริหารรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางเป็นประจำ….เพื่อลดปัญหาบนท้องถนนที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองและเพื่อนร่วมทาง