นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด นายแพทย์พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมพิธีมอบรางวัลรอบชิงชนะเลิศกิจกรรม Campus Challenge 2018 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว ประกวดแผนประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อก่อให้เกิดการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนรุ่นใหม่ เมื่อวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561 ณ Toyota Driving Experience Park บางนา
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรผ่านโครงการ โตโยต้า ถนนสีขาว ซึ่งได้ดำเนินงานมากว่า 30 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “สังคมคนขับรถดี” จึงได้จัดกิจกรรม Campus Challenge 2018 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตสูง โดยให้นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแผนประชาสัมพันธ์และรณรงค์สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในรั้วมหาวิทยาลัย จนถึงการลงมือปฏิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุจริง
กิจกรรม Campus Challenge 2018 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว เปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาทั่วประเทศได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีนิสิตและนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 679 ทีม ซึ่งหลังจากที่ได้ผ่านการอบรมขับขี่ปลอดภัยจากผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า และนำเสนอแผนในการรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางท้องถนนในรั้วมหาวิทยาลัยแก่คณะกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย ไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อรับทุนสนับสนุน 20,000 บาท ไปใช้ในการรณรงค์แผนและปฏิบัติจริงในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 1 เดือน
และในรอบชิงชนะเลิศ ทั้ง 10 ทีมได้นำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศในวันที่ 19 ธันวาคม 2561 โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านความปลอดภัยทางถนน
- นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด
- นายแพทย์พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)
ด้านการวางแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงบูรณาการ
- นายวีรยุทธ ล้อทองพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิ้งค์ วิ้งค์ โปรดักชั่น จำกัด
- นายสิริชัย ธนาโชคสมบัติ Senior Creative Director บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด
ด้านการใช้สื่อดิจิตอล
- นายธนธรณ์ โพดาพล New Business Partnership Manager บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด
ตัวแทนจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
- นายเอกรัตน์ ธารสิริสกุล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารงานกลาง
เกณฑ์ในการตัดสินรางวัลพิจารณาจาก แผนการรณรงค์สามารถปฏิบัติและวัดผลได้จริง พร้อมทั้งมีแผนงานต่อยอดโครงการในอนาคตระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งสามารถลดอุบัติเหตุได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืน
ผลการตัดสิน Campus Challenge 2018 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว มีดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ญี่ปุ่นยืนหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- นางสาวภัทริกา สาสนกูล
- นางสาวธาราทิพย์ บุญสนิท
- นายธนวัฒน์ สิงหเสนี
- นางสาวจริญา พร้อมสมบูรณ์
ปัญหาที่พบ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพฤติกรรมการเดิน ปั่น ขับขี่ ในเส้นทางที่ไม่ถูกต้องและเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทาง
แผนงานรณรงค์ สร้างFacebook Fanpage “Safe Life on The Right Way” เพื่อรณรงค์ออนไลน์ สร้างมาสคอตชื่อเจ้าชิโต้ เป็นตัวกลางในการสื่อสาร จัดทำวิดีโอคลิป เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน และเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ตั้งแต่การเดินให้ถูกที่ แบ่งปันถนนกับผู้ปั่น ขับบนถนนที่ถูกต้องไม่ไปขี่บนทางเท้าหรือทางจักรยาน โดยจะเผยแพร่วิดีโอบน Facebook Fanpage
รางวัลที่ได้รับ
- ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน มูลค่า 500,000 บาท
- ทุนการศึกษา 100,000 บาท ทุนสนับสนุนในการพัฒนาแผนงานแก่คณาจารย์ที่ปรึกษา 30,000 บาท
- โอกาสสัมภาษณ์ฝึกงานที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
- เงินสนับสนุน 100,000 บาท มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการดำเนินกิจกรรมต่อยอด 6 เดือน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม 4 Angies มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
- นายดนัย เรือนเงิน
- นางสาววิจิตรา คำมณี
- นายอดิรุจ ใจปาละ
- นายกฤษดา สีโยยอด
ปัญหาที่พบ นักศึกษาบางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเครื่องหมายจราจรบนเส้นทางสัญจร หลายคนไม่เข้าใจความหมายของเส้น และสัญลักษณ์ต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง จนนำไปสู่อุบัติเหตุขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เช่น อุบัติเหตุจากการขับย้อนศร อุบัติเหตุจากการไม่ข้ามทางม้าลาย อุบัติเหตุจากการจอดรถไม่ตรงเส้นแบ่งช่องจอดรถ
แผนงานรณรงค์ รณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัย จัดทำสื่อให้ความรู้เรื่องเครื่องหมายจราจร และปรับปรุงเครื่องหมายจราจร
รางวัลที่ได้รับ
- ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน มูลค่า 500,000 บาท
- ทุนการศึกษา 80,000 บาท ทุนสนับสนุนในการพัฒนาแผนงานแก่คณาจารย์ที่ปรึกษา 20,000 บาท
- เงินสนับสนุน 100,000 บาท มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการดำเนินกิจกรรมต่อยอด 6 เดือน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม ชูโล่จัง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นายสุรเชษฐ์ ศรีลามาตย์
- นายพบณรงค์ บุญฑล
- นายพฤษโชค โพธิ์สีดา
- นางสาวจุรีลักษณ์ ป้องทัพไทย
ปัญหาที่พบ การขับขี่รถด้วยความเร็ว ความเร่งรีบ ความเคยชินจากพฤติกรรม ความมั่นใจในสมรรถนะการขับขี่ของตนเอง และขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎจราจร
แผนงานรณรงค์ นำมาสค็อตประจำแคมเปญ “ชูโล่จัง” มาติดตั้งบนถนนเพื่อให้รถวิ่งเลนเดียว
รางวัลที่ได้รับ
- ศึกษาดูงานด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน มูลค่า 500,000 บาท
- ทุนการศึกษา 50,000 บาท ทุนสนับสนุนในการพัฒนาแผนงานแก่คณาจารย์ที่ปรึกษา 10,000 บาท
- เงินสนับสนุน 100,000 บาท มอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อการดำเนินกิจกรรมต่อยอด 6 เดือน
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่
- ทีม HALAQAH วงกลมเปลี่ยนชีวิต มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
- ทีม Lightsaber มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
รางวัลที่ได้รับ
- ทุนการศึกษา 15,000 บาท
- รางวัลชมเชย ได้แก่
- ทีม Look at Me มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ทีม Chiw! Chiw! มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขต เพชรบุรี
- ทีม เลี้ยวผิด ชีวิตเปลี่ยน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
- ทีม KHANAN Way มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
- ทีม ทางม้าลายที่ไม่ใช่ลายม้า BY BUU มหาวิทยาลัยบูรพา
รางวัลที่ได้รับ
- ทุนการศึกษา 5,000 บาท
- รางวัล Popular Vote ได้แก่
ทีม 4 Angies มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
รางวัลที่ได้รับ
- ทุนการศึกษา 10,000 บาท
รวมมูลค่ารางวัลการประกวดทั้งสิ้น 2,155,000 บาท
โตโยต้ามุ่งหวังว่า ความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนในการสร้างวินัยและน้ำใจ เพื่อสร้างสังคมคนขับรถดีอันจะนำไปสู่ถนนสีขาวหรือถนนปลอดอุบัติเหตุได้อย่างแท้จริงในอนาคต