วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
ข่าว

โตโยต้า ร่อนจดหมายชี้แจงสื่อ โต้ “ภตช” กรณีสำแดงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนฯ “พรีอุส” ไม่ตรงตาม JTEPA ขู่งัดมาตรการทางกฎหมายจัดการหากไม่หยุดพาดพิงถึง

โตโยต้า ร่อนจดหมายชี้แจงสื่อ โต้ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช) กรณีสำแดงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนประกอบ โตโยต้า พรีอุส ไฮบริด ไม่ตรงตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ขู่งัดมาตรการทางกฎหมายจัดการหากยังไม่หยุดกล่าวหา

Toyota Prius

รายละเอียดจดหมายที่ส่งถึงสื่อมวลชน

ที่ ปชส.040/2558

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

27  กรกฎาคม 2558

โตโยต้าชี้แจงกรณีภาษีนำเข้ารถยนต์พริอุส

จากกรณีที่ ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช) นำโดย พลเอก สำเริง พินกลาง ประธานภาคีเครือข่ายฯ และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการฯ ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมและการมีผลประโชน์ทับซ้อน หรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียของ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยกล่าวพาดพิงถึง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่ามีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ โตโยต้า พริอุส ไม่ถูกต้อง แจ้งนำเข้าเป็นชิ้นส่วน แต่ข้อเท็จจริงกลับมีการนำเข้าเป็นตัวรถยนต์ทั้งคัน ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิลดหรือยกเว้นภาษีอากร ตามความตกลง ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และประกาศกระทรวงการคลัง มาตรา 12 ได้ นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีการสำแดงเท็จ ในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ ช่วง พ.ศ. 2553 – 2555

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีการนำเข้า รถยนต์ พริอุส เข้ามาทั้งคัน ตามคำกล่าวพาดพิง แต่ได้มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ พรีอุส เพื่อนำมาผลิตร่วมกับชิ้นส่วนที่จัดซื้อภายในประเทศ ภายใต้กระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน โดยมีสายการผลิตอยู่ที่โรงงานเกตเวย์ เริ่มสายการผลิตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทุกชิ้น ได้มีการสำแดงเอกสารถูกต้องครบถ้วน ตามกฏหมาย และได้รับการอนุมัติการนำเข้า และการตรวจปล่อยจากทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

อนึ่ง ตามที่ได้มีการกล่าวพาดพิงโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้เกิดความเสียหายกับภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นที่จะใช้สิทธิทางกฏหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของบริษัทฯ หากยังคงมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดการกระทำดังกล่าว

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯได้ดำเนินงานบนพื้นฐานความโปร่งใส (Transparency) ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล (Corporate Governance) และดำเนินธุรกิจที่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้ารวมถึงตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกด้วยดีตลอดมา

(วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์)

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส